"ผมซื้อบ้านต่อจากคนรู้จักกัน แต่มีเงินสดไม่พอค่าบ้าน ได้ทำเป็นสัญญากู้ไว้ให้ผู้ขายแทนจำนวน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญากู้ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินกันไว้ คงกำหนดแต่เวลาชำระดอกเบี้ยว่าจะต้องชำระทุก ๆ วันสิ้นเดือน ผมชำระดอกเบี้ยครบไม่เคยขาด แม้จะไม่ตรงเวลาบ้างแต่ผู้ขายก็ไม่ได้ติดใจอะไร เมื่อต้นปีนี้ผมได้บอกขายบ้านเพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้จำนวน 5000,000 บาท ตามสัญญากู้ แต่ยังไม่ทันได้ขายบ้าน เจ้าหนี้มอบให้ทนายความมีหนังสือมาทวงหนี้จากผม โดยกำหนดเวลาให้ผมชำระหนี้ 500,000 บาทภายใน 30 วัน ผมได้ขอร้องให้เจ้าหนี้รอให้ผมขายบ้านได้เสียก่อน เจ้าหนี้ไม่ยอม ได้ฟ้องผมต่อศาลแล้ว และตอนนี้ศาลได้มีหมายยึดบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ศาลผู้ถือหมายมายึดบอกว่า เป็นการยึดทรัพย์ชั่วคราวก่อนพิพากษา เพราะเจ้าหน้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องให้ผมชำระหนี้ และขอยึดทรัพย์ชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน ขอเรียนถามคนข้างศาลว่า ผมยังไม่ทันได้รับสำเนาคำฟ้องเลย ทำไมศาลจึงสั่งให้ยึดบ้านผมได้ เมื่อศาลยึดบ้านผมแล้ว ผมจะขายบ้านได้หรือไม่ ถ้าขายไม่ได้ ผมจะเอาเงินไหนไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ช่วยอธิบายเรื่องการยึดทรัพย์ชั่วคราวโดยละเอียดด้วย"
ปัญหานี้ผู้ใช้ชื่อว่า "คนจน" เป็นผู้ถาม
หนังสือสัญญากู้ที่คุณคนจนทำไว้ให้แก่เจ้าหนี้นั้น แม้ความจริงคุณคนจนจะไม่ได้กู้เงิน 500,00 บาท จากเจ้าหนี้ แต่คุณคนจนก็เป็นหนี้ค่าบ้านเจ้าหนี้อยู่จำนวน 500,000 บาทจริง หนังสือสัญญากู้จึงมีผลบังคับใช้ฟ้องร้องคุณคนจนได้ตามกฎหมาย และแม้ในหนังสือสัญญากู้จะมิได้กำหนดเวลาชำระเงินต้นกันไว้ แต่ก่อนฟ้องเจ้าหนี้ได้มอบให้ทนายความทวงถาม โดยกำหนดเวลาให้คุณคนจนนำเงิน 500,000 บาทไปชำระภายใน 30 วันแล้ว เมื่อคุณคนจนไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่เจ้าหนี้กำหนด ถือว่าคุณคนจนผิดนัด เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องศาลขอให้ศาลบังคับให้คุณคนจนชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ได้
ส่วนการที่ศาลออกหมายยึดทรัพย์ชั่วคราวทั้ง ๆ ที่คุณคนจนยังไม่ได้รับสำเนาคำฟ้องเลยนั้น แสดงว่าเจ้าหนี้ได้ยื่นคำฟ้องพร้อมกับยื่นคำร้องขอคุ้มครองโดยวิธียึดทรัพย์ของคุณคนจนไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาเป็นกรณีฉุกเฉิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (1) และมาตรา 266 ในการดำเนินคดีฟ้องร้องกันในทางแพ่งนั้นกว่าจะรู้แพ้รู้ชนะกันได้จะต้องใช้เวลาพอสมควร ในช่วงเวลาดังกล่าวคู่ความที่ไม่สุจริตซึ่งรู้ตัวว่าตนต้องแพ้คดีอาจจะทำการยักย้ายจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของตนไปให้พ้นอำนาจศาล เพื่อไม่ให้คู่ความฝ่ายซึ่งชนะคดีในที่สุดบังคับชำระหนี้ได้ กฎหมายจึงได้กำหนดวิธีการป้องกันมิให้คู่ความกระทำการดังกล่าวในระหว่างการพิจารณาของศาลแต่ละศาลขึ้น เรียกว่า วิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ซึ่งมีอยู่หลายวิธี วิธีการยึดทรัพย์ของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาที่คุณคนจนถามมาก็เป็นวิธีคุ้มครองชั่วคราววิธีหนึ่ง ซึ่งโจทก์สามารถขอโดยอ้างเหตุฉุกเฉินได้ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยตั้งใจจะยักย้ายทรัพย์สินที่พิพากษาหรือทรัพย์สินของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปให้พ้นจากอำนาจศาล หรือจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำบังคับใด ๆ ซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลย หรือเพื่อทำให้โจทก์เสียเปรียบ หรือมีเหตุจำเป็นอื่นใดตามที่ศาลจะพิเคราะห์เห็นเป็นการยุติธรรมและสมควร และจะต้องมีเหตุฉุกเฉินด้วย
การที่ศาลออกหมายยึดบ้านของคุณคนจนตามคำขอของเจ้าหนี้รายนี้แสดงว่า ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวคือ วิธียึดทรัพย์ชั่วคราวมาใช้ได้ทั้งเป็นกรณีที่ศาลเชื่อว่า คดีมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นที่จะต้องยึดทรัพย์ของคุณคนจนไว้ทันที
เมื่อศาลได้ทำการยึดบ้านของคุณคนจนไว้ชั่วคราวแล้วเช่นนี้ คุณคนจนก็ไม่อาจขายบ้านนั้นได้ แม้คุณคนจนจะขายบ้านที่ถูกยึดไว้ชั่วคราวแล้วนี้ ผู้ซื้อก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ดีไม่ดีคุณคนจนอาจจะมีความผิดในทางอาญามีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 อีกด้วย
ถ้าหากคุณคนจนเห็นว่า การที่ศาลสั่งยึดบ้านของคุณคนจนไว้ชั่วคราวเช่นนี้เป็นการไม่ถูกต้อง คุณคนจนก็มีทางแก้ได้ 2 ทาง คือ ขอให้ศาลสั่งยกเลิกคำสั่งและหมายยึดชั่วคราวนั้นเสียโดยพลัน หรืออุทธรณ์คำสั่งศาลอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 267 วรรคสอง หรือมาตรา 288
คดีที่เจ้าหนี้ฟ้องคุณคนจนเรื่องนี้ คุณคนจนคงจะต่อสู้ยาก เพราะคุณคนจนเป็นหนี้เขาจริง และมีเหตุที่ศาลจะสั่งยึดทรัพย์ชั่วคราวได้ เพราะคุณคนจนกำลังบอกขายบ้าน ทางที่ดีที่สุดคุณคนจนน่าจะหาทางเจรจาประนีประนอมยอมความกับฝ่ายเจ้าหนี้ โดยขอผ่อนเวลาชำระหนี้ออกไป
ครับ หากสามารถตกลงกันได้จะได้ไม่ต้องเสียเงินและเสียเวลาในการต่อสู้คดีกันอีกต่อไป
คนข้างศาล
|